ยอดขายเมษายนระอุ รถนั่งยืนหนึ่ง โต 20.6%
ตลาดรถยนต์เติบโตรับหน้าซัมเมอร์ เดือน 4 โกยยอดขายรวม 63,427 คัน เพิ่มขึ้น 9.1% ตลาดรถยนต์นั่งกลับมาคึกคัก เติบโตขึ้นกว่า 20.6% เช่นเดียวกับรถยนต์พาณิชย์ ที่เพิ่มขึ้น 4.4% คาดการณ์ตลาดในเดือนพฤษภาคมยังมีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับ
สถิติตัวเลขจำหน่ายรถยนต์ในเดือนเมษายน มีปริมาณการขายทั้งสิ้น 63,427 คัน เพิ่มขึ้น .1% เมื่อเทียบกับเดือน เมษายน 2564 เมื่อแบ่งเป็นประเภทรถยนต์นั่ง มียอดขายรวม 20,492 คัน เพิ่มขึ้น 20.6% รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ (รวมปิกอัพ) 42,935 คัน เพิ่มขึ้น 4.4% ส่วนเฉพาะปิกอัพ 1 ตัน มีจำนวน 33,629 คัน เพิ่มขึ้น 3.1% การขยายตัวเพิ่มขึ้น 9.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มคลี่คลาย ผู้บริโภคสามารถกลับมาใช้ชีวิตในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เกือบเป็นปกติ
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวกที่สำคัญในช่วงเดือนนี้ คือ ยอดจองรถจากงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 34 ที่มีจำนวน 31,896 คัน ไม่รวมยอดจองรถที่โชว์รูมดีลเลอร์รถยนต์ทั่วประเทศ ที่จัดแคมเปญส่งเสริมการขายเดียวกับในงานมอเตอร์โชว์ อีกเป็นจำนวนมาก โดยบริษัทรถยนต์ต่างๆ เร่งการผลิตเต็มที่ เพื่อเร่งการส่งมอบรถใหม่ถึงมือลูกค้าได้ทันตามความต้องการ
ส่วนแนวโน้มตลาดรถยนต์ในเดือนพฤษภาคมนี้ มีแนวโน้มเติบโตที่ดีต่อเนื่อง แม้จะเข้าสู่ช่วงฤดูฝนที่เป็น “Low Season” ก็ตาม เนื่องจากยังมีแรงส่งจากตัวเลขการส่งมอบรถที่รับจองในช่วงงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวกสำคัญคือ การที่ผู้บริโภคเริ่มคลายความกังวลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กำลังจะได้รับการประกาศให้เป็น “โรคประจำถิ่น” เห็นได้จากสภาพการจราจรที่กลับมาคึกคักอีกครั้งจากการผ่อนคลายมาตรการ “Work From Home” เพื่อให้พนักงานกลับเข้าทำงานตามปกติ โรงเรียนเริ่มเปิดเรียนปกติ รวมถึงการออกจากบ้านมาทำงานของประชาชน เป็นสิ่งผลักดันเศรษฐกิจโดยรวมให้ฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับยอดจำหน่ายสูงสุด 3 อันดับ ในประเภทต่างๆ แบ่งแยกออกเป็นประเภทได้ดังนี้
ตลาดรถยนต์รวม
โตโยต้า 21,681 คัน เพิ่มขึ้น 13.2% ส่วนแบ่งตลาด 34.2%
อีซูซุ 16,595 คัน เพิ่มขึ้น 11.0% ส่วนแบ่งตลาด 26.2%
ฮอนด้า 5,107 คัน ลดลง 5.8% ส่วนแบ่งตลาด 8.1%
ตลาดรถยนต์นั่ง
โตโยต้า 6,901 คัน เพิ่มขึ้น 39.2% ส่วนแบ่งตลาด 37.8%
ฮอนด้า 3,969 คัน ลดลง 10.5% ส่วนแบ่งตลาด 21.7%
ซูซูกิ 2,045 คัน เพิ่มขึ้น 18.0% ส่วนแบ่งตลาด 11.2%
รถกระบะขนาด 1 ตัน
อีซูซุ 14,149 คัน เพิ่มขึ้น 20.7% ส่วนแบ่งตลาด 48.7%
โตโยต้า 10,406 คัน ลดลง 0.1% ส่วนแบ่งตลาด 35.8%
ฟอร์ด 2,211 คัน ลดลง 2.6% ส่วนแบ่งตลาด 7.6%
รถกระบะดัดแปลง (PPV)
ยอดขายสะสมรวม 4,559 คัน
โตโยต้า 2,199 คัน, อีซูซุ 1,302 คัน, มิตซูบิชิ 641 คัน