“คนพีอาร์” หรือ “คนทำพีอาร์” “ความแตกต่าง”…ในมุมมอง ของ “คนสื่อ” อย่าง “ลุงนิด”

ก้อ…ไม่รู้ “ลุงนิด” ว่างมากไปหรือปล่าววว เลยนั่งคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ไปเรื่อยเปื่อย แล้วก็มาลงที่ “คนพีอาร์” ของค่ายยานยนต์ ที่วันนี้หดหายไปไม่ว่าจะเป็นเพราะเกษียณหรือลาออก หรือบางคนก็ย้ายค่าย รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 กว่า 2 ปี ที่ทำเอาเหงาหงอยไปตามๆกัน อาจคิดเองเออเอง “คนพีอาร์” จริงๆนั้น หายได้ยากยิ่ง เพราะส่วนใหญ่ระยะหลังๆ เจอะเจอแต่ “คนทำพีอาร์” อาจเป็นด้วยสถานการณ์เอื้อพาไป ส่งข่าวผ่านหน้าจอสี่เหลี่ยม แถม “คนสื่อ” ก็ไม่มากเรื่อง ส่งมาก็ส่งต่อ กลายเป็น “ก๊อปปี้เพรส” สอยมาอ่านกี่ครั้งก็ข่าวเดียวกัน สุดท้าย…ก็เลยไม่สอยลงมาอ่าน
ทำไม “ลุงนิด” ถึงได้ใช้คำว่า “คนทำพีอาร์” ก้อ…เป็นยังงั้นจริงๆ สมัยก่อนโน้น… “คนพีอาร์” จะส่งข่าวต้องเขียนข่าวเป็น เขียนแล้วอ่านรู้เรื่อง เสร็จแล้วใส่ซองพร้อมรูป เพื่อส่งไปให้สื่อ เป็นการเขียนข่าวที่อ่านแล้วเข้าใจ สามารถต่อยอดเป็นข่าวได้ รวมถึงยังแยกข่าวเป็น “ข่าวสังคม” ที่จะต้องบรรยายใต้ภาพ ย้ำบรรยายใต้ภาพ สั้นๆได้ใจความ แล้วก็พับใส่ซองพร้อมรูปเหมือนกัน แต่ “คนสื่อ” จะเข้าใจชัดเจน ซองไหนข่าวซองไหนภาพสังคม “คนพีอาร์” จึงต้องเขียนข่าวเป็นบรรยายใต้ภาพได้ เสร็จแล้ว…บางครั้งต้องขับรถไปแจกข่าวด้วยตัวเอง หรือไม่ถ้าไม่รีบ ก็ส่งทางไปรษณีย์
“คนทำพีอาร์” ที่อยู่ในร่างคนพีอาร์ วันนี้…จึงแค่เป็นคนส่งข่าวผ่านหน้าจอสี่เหลี่ยม บางคนแทบไม่รู้จัก “คนสื่อ” แตกต่างจาก “คนพีอาร์” ที่รู้จักและสนิทสนมกับคนสื่อ สิ่งที่น่าเป็นห่วง…หลายค่ายเจ้านายไม่ใช่คนไทย วิธีเลือกคนมาทำงานด้วย จึงเน้นภาษาเป็นหลัก อาจเป็นเพราะตัวเองไม่สันทัดภาษาไทย เลยต้องเลือกคนคุยกันได้เขียนรายงานได้ อย่าแปลกใจที่จะเห็น “คนพีอาร์” ระดับหัวแถว ฟุดฟิดฟอไฟกับเจ้านายได้สุดยอด แต่เรื่องงานพีอาร์ ก้อ…ส่งผ่านให้ “ลูกน้อง” เป็นคนทำ อย่าแปลกใจ…ทำไม “ลุงนิด” ถึงเรียก “คนทำพีอาร์” ไม่ใช่คนพีอาร์ ด้วยประการฉะนี้
เขียนยังงี้…มิได้คิดจะแกงใคร แค่หลายค่าย “คนเป็นนาย” ที่ไม่ใช่คนไทยนั้น อาจยังไม่เข้าใจธรรมชาติของ “คนสื่อ” ณ ประเทศไทย เลยต้องเลือก “คนทำงาน” ที่เชี่ยวชาญเรื่องภาษา จะได้ช่วยเขียนรายงาน หรือคุยกันรู้เรื่อง เรื่องทำงานเลยอาจเป็นเรื่องรองลงมา “ลุงนิด” แคะค้นคนข่าว ไปตามประสา หวังว่า…คงไม่ไปทำให้ใครเดือดร้อนนะครับ
รักทุกคนครับ