คนในสังคม ฉบับ 1,079

หนังสือพิมพ์ยวดยาน รายสัปดาห์ ฉบับที่ 1,079 ประจำวันที่ 20-26 พฤษภาคม 2567 มีให้อ่านกันทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ วางตลาดทุกวันจันทร์ ราคาขายฉบับละ 20 บาท ไม่มีเงินทอน…*** “รามอินทรา” ได้เวลาเข้าเวรรายงานข่าวคราวในแวดวง “คนยานยนต์” กับวังวนที่ข่าวคราวเหมือนจะคลายความคึกคักลงไป หลังจบงานบางกอก มอเตอร์โชว์ ที่มียอดจองถึง 58,611 คัน แต่ละค่ายน่าจะอยู่กับเส้นทางการค้นตามยอดจองให้เป็นยอดจริง โดยเฉพาะค่ายรถไฟฟ้า เพียงแต่…จะสามารถติดตามได้มากน้อยขนาดไหน เชื่อว่า…อีกไม่นานน่าจะมีคำตอบ ตัวเลขยอดจองจริง ๆ เป็นเยี่ยงไร? รวมถึงความมั่นคงของแต่ละค่ายกับการจะดำรงอยู่ในตลาดรถยนต์เมืองไทย และอีกเรื่องที่น่าสนใจ…แต่ละค่ายนั้นมีเม็ดเงินสำหรับการสนับสนุนงบโฆษณาด้วยหรือไม่? ที่ผ่านมาส่วนมากมักจะเป็นท่อใหญ่ท่อตันซะมากกว่า “รามอินทรา” เชื่อว่า…เรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่คุยกันเสียงดังขึ้น โปรดติดตาม…*** แต่จะโทษฝ่ายค่ายรถก็คงไม่ได้ ด้วยอาจเป็นเพราะวันนี้… “คนสื่อ” ยุคดิจิทัลนั้น เกิดขึ้นเยอะแยะจนจดจำไม่ไหว อาจเป็นเพราะ…สื่อยุคดิจิทัลนั้นเกิดง่ายมาก ด้วยต้นทุนที่ไม่มากก็สามารถเป็นเจ้าของสื่อกันได้ ก้อ…อยู่ที่แต่ละค่ายจะเลือกกันเอาเองว่า…จะดูแลกันเยี่ยงไร? หรือจะวัดผลกันด้วยยอดวิวเท่านั้น เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้…*** อีกเรื่องที่ “รามอินทรา” ยกมือเชียร์ เพราะยังอยากเห็นรถยนต์นิสสัน ยังเป็นรถยนต์ที่คนไทยยังอยากเป็นเจ้าของ ก้อ…ดีใจกับยอดจองกว่า 1,200 คัน ที่เก็บเกี่ยวได้จากงานบางกอก มอเตอร์โชว์ ที่น่าสนใจ เพราะเป็นรถยนต์ นิสสัน คิกส์ ที่น่าจะถูกโฉลกกับคนไทยอีกด้วย ยินดีกับ “นายญี่ปุ่น” มร.โทชิฮิโระ ฟูจิกิ มีอะไรอยากให้ “ยวดยาน” นำเสนอ ส่งผ่าน “คนตัวโต” กมลชนก เจริญจินดารัตน์ มาให้ “รามอินทรา” ก็ได้นะครับ…*** อีกค่ายที่ “รามอินทรา” ยินดีด้วย กับยอดขายที่เติบโตขึ้น 12.1% ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 67 ที่มียอดจดทะเบียน 2,800 คัน อยากรู้รายละเอียด ติดตามได้ใน “ยวดยาน” ที่ มร.ชู กังจื้อ เปิดข้อมูลแบบชัด ๆ รวมถึงยกนิ้วให้กับทีมงานคนไทยที่นำทีมโดย “อีส” จิรวัฒน์ สุขะ แหม…อ่านแล้วยิ้มกว้างเลยเชียว…*** อีกความน่าสนใจที่ “รามอินทรา” จับอาการของค่ายรถยนต์ โดยเฉพาะค่ายรถน้ำมัน แม้ว่า…จะประสบความสำเร็จ สามารถเก็บเกี่ยวยอดจองจากงานบางกอก มอเตอร์โชว์ ทั้งโตโยต้า และฮอนด้า ก้อ…ยังคงเป็นเหมือนทะเลไร้คลื่นลม หรือเป็นเพราะยังไม่มั่นใจกับจุดยืน ที่ยังสามารถขายได้ทั้งรถน้ำมันและรถไฮบริด อย่าง “ฮอนด้า ออโตโมบิล” นั้น “รามอินทรา” เข้าใจได้ถึงสถานการณ์ที่ไม่ค่อยจะเป็นข่าวสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะ “นายญี่ปุ่น” มร.ฮิเดโอะ คาวาซากะ ที่เหมือนจะเชื่อมั่นในวิถีการทำงานของคนไทย ที่มี “เจ๊เจี๊ยบ” มนวรา เพชรพลากร เป็นหัวแถวขับเคลื่อน…*** แต่กับยักษ์ใหญ่โตโยต้านั้น ไม่รู้ว่าทำไมวันนี้กับวันวาน ข่าวคราวถึงได้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าคนบริหารที่เป็น “นายญี่ปุ่น” หรือ “คนไทย” แทบจับความเคลื่อนไหวอะไรไม่ค่อยได้เลย ทั้ง ๆ ที่ก็มีความเคลื่อนไหวเรื่องรถยนต์หลากหลายรุ่น ก้อ…น่าจะเป็นวิถีแห่งการเปลี่ยนแปลงนั่นแหละ…*** จากสิ่งที่เปลี่ยนแปลงของค่ายรถยนต์ ฟากฝั่งของค่ายรถจักรยานยนต์ ก้อ…ไม่แตกต่างกัน ชัดเจนยิ่ง เป็นการเปลี่ยนแปลงของค่ายรถจักรยานยนต์ 2 ค่าย ทั้งซูซูกิ และคาวาซากิ ที่ยังคงดำเนินธุรกิจอยู่ในตลาดเมืองไทย เพียงแต่ข่าวคราวเท่านั้นที่เหมือนจะไม่มี หรือแม้แต่ค่ายใหญ่อย่างไทยฮอนด้า วันนี้…ถ้าจะหาข่าวก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อทุกการขับเคลื่อนเป็นเรื่องของ “นายญี่ปุ่น” ที่แตกต่างจากวันวาน วันเปลี่ยน เวลาผ่าน…ทุกอย่างขึ้นอยู่กับเป้าหมายที่วางไว้ นั่นคือผลประโยชน์ที่ต้องได้รับ ส่วนคนบริหารที่เป็นคนไทย “รามอินทรา” ก็แค่อยากบอก…ไม่รู้จะคุยกับใคร นอกจาก “คุณอา” อารักษ์ พรประภา ซึ่งยังไงก็ยังคงเป็น “ผู้ชายผมม้า” ของ “รามอินทรา” เหมือนเดิม…*** ย่อหน้าสุดท้าย “รามอินทรา” บันทึกคำขอบคุณถึงทุกค่ายยานยนต์ ที่ยังคงให้การสนับสนุนการจัดทำหนังสือพิมพ์ยวดยาน ฉบับก้าวสู่ปีที่ 26 ที่จัดทำเป็นฉบับพิเศษ ขอบคุณที่ยังมีความรักความผูกพันกันเหมือนเดิม ขอบคุณมากกว่าขอบคุณ…*** พบกันได้ฉบับหน้า สวัสดีครับ