รามอินทรา จอ…จ่อ…จ้อ…591 ชีวิต…ช่วงมอเตอร์โชว์ เก็บเกี่ยว…บรรยากาศ เก็บข้อมูล…เป็นต้นทุน

“รามอินทรา” รู้สึกผูกพันกับงานบางกอก มอเตอร์โชว์ มาอย่างยาวนาน ก้อ…ตั้งแต่สวนอัมพรก่อนจะย้ายไปที่ไบเทค บางนา และเป็นยุคเริ่มต้นของการจัดทำสูจิบัตร มอเตอร์โชว์ ที่มีรูปร่างที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก่อนที่งานจะย้ายมาจัดที่ชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี จนมาถึงปัจจุบันนี้ ล่วงสู่ครั้งที่ 46 แล้ว ถ้านับแค่การจัดทำสูจิบัตร ก็ปีที่ 27 แล้ว นับเป็นเส้นทางที่ยาวนานพอสมควร ยอมรับว่า…จะต้องเดินเข้างานทุกวัน เพราะต้องเดินเก็บรายละเอียดและหาข้อมูล สำหรับการเขียนทุกเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับงาน รวมถึง…การต้องเขียนในสูจิบัตร ซึ่งก็เดินไปทั่วๆ ดูบรรยากาศดูคนที่มาชมงานจึงกล้าพูดได้เลยว่า…จะหาคนมาเขียนโปรยปกสูจิบัตรแบบม้วนเดียว 12 ฉบับนั้น คงเป็นเรื่องยากจริงๆ นี่เป็นเหตุสำคัญ…ทำไมต้องเดินเข้างานทุกวัน จะอยู่ในงานมากหรือน้อยก็แล้วแต่เงื่อนไขของความจำเป็น
ทุกครั้งที่เดินเข้างาน “รามอินทรา” จะต้องหาเวลาเดินไปตามบูธต่างๆ บางครั้งก็ดูคนที่มาดูงาน บางคนก็เดินไปดูเค้าลองรถกัน อยากรู้ว่า…ที่คุยว่ามียอดจองนั้นมีจองจริงหรือไม่? ก้อ…พอจะวิเคราะห์ได้เหมือนกันว่า ค่ายไหนสมควรมียอดจองมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเคยเจอะเจอกับคนบริหารของค่ายรถยนต์ เดินเลาะด้านหลังบูธเหมือนๆกัน จะมีก็แค่ระยะหลังที่อายุเยอะขึ้น ชักเดินมากๆไม่ไหว แต่…ก็อาศัยเดินไปและพักไป ก็อาศัยนั่งตามบูธต่างๆนั่นแหละ หรือบางครั้งก็อาศัยกินกาแฟที่บางบูธมีไว้บริการลูกค้า เป็นของฟรีที่ไม่ต้องเสียตังค์ และหาได้ง่าย แต่ต้องรู้ด้วยว่าบูธไหนสมควรแวะไปชิมฟรี ก้อ…เป็นบรรยากาศที่ “รามอินทรา” ปฏิบัติเป็นประจำ ในทุกครั้งที่มีงานมอเตอร์โชว์ เดินไปเรื่อยเปื่อย มีอะไรน่าสนใจก็หยุดซะหน่อย ใครที่ไม่เคยทำจะลองเลียนแบบบ้างก็ไม่ว่ากัน รับรองมีเรื่องน่าสนใจให้หยิบไปเป็นข้อมูลได้อีกด้วย
อีกเรื่องที่รู้สึกเสียดาย เป็นภาพที่เปลี่ยนแปลงไปของคนบริษัท ถ้าเป็นวันวานนั้น “รามอินทรา” จะรู้สึกสนุกกว่าวันนี้ เพราะจะมีคนบริษัทแวะเวียนเข้ามาที่บูธทุกวัน ทำให้สามารถเจอะเจอกัน ได้คุยกันได้กินกาแฟกัน วันนี้แวะบูธนี้พรุ่งนี้แวะบูธโน้น สลับกันไปยิ่งทำให้มีความสุข แถมยังได้คุยกับคนคุ้นเคยอีกด้วย แต่วันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไป โอกาสที่จะเจอกับใครสักคนเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะส่วนใหญ่จะแวะเวียนกันมาแค่วันเปิดวันเดียว หรืออีกวันก็เป็นวันปิดงาน ซึ่งส่วนใหญ่… “รามอินทรา” ก็มักจะไม่ค่อยอยู่ในวันปิดงาน ด้วยอายุที่เยอะขึ้น จะให้อยู่ถึงปิดงานแล้วขับรถกลับบ้าน คงไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่ เพราะสายตาไม่ค่อยจะเป็นใจกับการขับรถแล้วล่ะ ส่วนมากเข้างานในช่วงบ่ายๆพอเย็นนิดนึง ก็จะโบกมือลาแล้วล่ะ สายตายังพอจะได้อยู่ เป็นแนวปฏิบัติช่วงงานมอเตอร์โชว์ จึงเป็นห้วงเวลาที่มักจะเดินคนเดียว ดูโน่นดูนี่ไปเรื่อยๆ
ก้อ…เป็นวิถีชีวิตของ “รามอินทรา” ในช่วงที่มีงานบางกอก มอเตอร์โชว์ เป็นเวลาที่เป็นอีกความผูกพัน เป็นอีกวิถีทางที่ได้เก็บเกี่ยวบรรยากาศ และทำให้ได้มีข้อมูลไว้เขียนงาน โดยเฉพาะสูจิบัตร 12 ฉบับ และเป็นผลพวงมาเขียนบใน “ยวดยาน” อีกด้วย ก็เป็นอีกเส้นทางของความเป็น “รามอินทรา” และเป็นอีกความสำเร็จของการจัดทำสูจิบัตรมอเตอร์โชว์ ที่แตกต่างและเป็นตัวเองอย่างชัดเจนยิ่ง
เป็นสูจิบัตร…ที่มีขนาดใหญ่และสดที่สุดในโลก
มากกว่าขอบคุณ
“รามอินทรา”
บ้านชินเขต
12 มีนาคม 2568