“ไฮบริด” แซงขวา “รถใหม่” จ่อคิว นำทัพล่ายอดขายปี 68

ค่ายยานยนต์พร้อมสานต่อทิศทางอันยอดเยี่ยมของรถยนต์ขุมพลังไฮบริด ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 29% ในปีที่ผ่านมา สะท้อนความต้องการและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค หลังผ่านพ้นช่วงเวลาของบีอีวีฟีเวอร์ ซึ่งรถไฮบริดจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ผลักดันยอดขายให้เติบโตจากปีก่อนหน้า โดยคาดว่าตลาดจะขยายตัวเพิ่มขึ้นราว 5% ด้วยยอดขาย 600,000 คัน
อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยปี 2567 ปิดตลาดด้วยยอดขายรวมทั้งสิ้น 572,675 คัน ลดลง 26.2% จากปีก่อนหน้า นับเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดของอุตสาหกรรมยานยนต์ในรอบกว่า 15 ปี ซึ่งเป็นผลพวงจากการชะลอตัวของสภาพเศรษฐกิจ ไล่เลียงไปถึงมาตรการที่เข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ ปิดโอกาสสำหรับผู้บริโภคที่อยากจับจองเป็นเจ้าของจำนวนไม่น้อย รวมถึงความนิยมของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าหลังผ่านพ้นช่วงบีอีวีฟีเวอร์ในปีก่อนหน้า ที่มียอดจดทะเบียนทะยานขึ้นไปมากกว่า 76,000 คัน เติบโตก้าวกระโดดจากปีก่อนหน้ามากกว่า 600% ซึ่งในปีที่ผ่านมามียอดจดทะเบียนราว 70,000 คัน ลดลงจากปีก่อนหน้าราว 8% สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางของตลาดในเซ็กเมนต์ดังกล่าว ที่ครองสัดส่วนราว 14% จากภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์
อย่างไรก็ดีจากสถานการณ์ดังกล่าว ยังมีสัญญาณที่สะท้อนความต้องการของผู้บริโภคที่มีต่อรถยนต์ไฮบริดซึ่งเป็นหนึ่งในทางเลือกและทางรอดของหลากหลายค่ายในช่วงเวลาที่รถยนต์พลังงานไฟฟ้ามีให้เลือกนับนิ้วไม่ถ้วน โดยในปีที่ผ่านมายานยนต์ขุมพลังไฮบริด มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นถึง 29% จากปีก่อนหน้า และดูเหมือนจะเป็นหนึ่งในแนวทางการทำตลาดและกำลังหลักสำหรับปี 2568
สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปีนี้ เจ้าตลาดอย่างโตโยต้า คาดการณ์ว่าจะยังคงอยู่ในสภาวะฟื้นตัวอย่างช้าๆ พร้อมกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมีแรงหนุนด้านอุปสงค์จากกิจกรรมในภาคธุรกิจและการลงทุนที่จะกระเตื้องขึ้น รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตดีขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นความต้องการรถยนต์ให้สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าดูสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่อาจส่งผลต่อการส่งออก ตลอดจนสถานการณ์ที่ทางสถาบันการเงินอาจยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ บวกกับทิศทางของนโยบายอัตราดอกเบี้ย และคาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ในปี 2568 จะอยู่ที่ราว 600,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 5% จากปีที่ผ่านมา
โดยรถยนต์ภายใต้ขุมพลังไฮบริด ที่โดดเด่นทั้งในเรื่องสมรรถนะการใช้งาน ทั้งยังสามารถตอบโจทย์ในเรื่องของความประหยัด ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้บริโภคขยับตัวไปใช้รถยนต์พลังานไฟฟ้า ทว่าความสะดวกสบายและความมั่นใจในการใช้งาน เพิ่มความโดดเด่นและน่าสนใจให้กับรถไฮบริดในช่วงเวลาที่ระบบนิเวศน์ยานยนต์พลังงานไฟฟ้ายังไม่ครอบคลุมการใช้งาน
ส่องทิศทางของหลากหลายค่าย พร้อมเสิร์ฟรถยนต์ไฮบริดรุ่นใหม่ๆ ลงสู่ตลาด สร้างโอกาสเก็บเกี่ยวยอดขาย หวังสร้างการเติบโตในช่วงที่ยากลำบากนับตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ซึ่งแต่ละค่ายใช้ช่วงเวลาของงานแสดงยานยนต์ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างแรงกระเพิ่ม กระตุ้นความน่าสนใจให้กับไลน์อัพของรถยนต์ในตลาดประเทศไทย
โดยโฟกัสไปที่ค่ายสัญชาติญี่ปุ่น ที่ได้รถยนต์ไฮบริดเป็นแรงกระตุ้นยอดขาย ภายใต้สงครามราคารถยนต์พลังงานไฟฟ้าของแบรนด์จีน ที่ส่งผลทั้งด้านบวกและลบ เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ชะลอการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค รวมถึงความเชื่อมั่นต่อแบรนด์ที่ด้อยกว่าค่ายญี่ปุ่นที่ไม่กระโดดเข้าร่วมวงสงครามราคา ที่น่าจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี
ไล่เลียงจากเจ้าตลาดอย่าง โตโยต้า ที่เดินหน้าเสริมทัพด้วยรถไฮบริดอย่างต่อเนื่อง และพร้อมที่จะสานต่อความนิยมของ ยาริส ครอส ด้วยทางเลือกในเซ็กเมนต์อื่นๆ รวมถึง มิตซูบิชิ ที่เตรียมเสริมทัพในตลาดรถยนต์นั่งด้วย เอ็กซ์ฟอร์ซ หวังชิงสัดส่วนจากผู้นำตลาดอย่าง ยาริส ครอส และ ฮอนด้า เอชอาร์-วี
ขณะที่หนึ่งในผู้นำอีโคคาร์อย่าง ซูซูกิ เตรียมอิมพอร์ต ซูซูกิ ฟรองซ์ เข้ามาเสริมทัพ รวมถึง นิสสัน ที่พร้อมสานต่อทิศทางที่ยอดเยี่ยมของ นิสสัน เซเรน่า ด้วยเจนฯล่าสุดของรถรุ่นดังกล่าว ด้าน ซูบารุ ที่โยกไปทำตลาดด้วยการอิมพอร์ตก็เตรียมนำเข้า ซูบารุ เอ็กซ์วี มาตอกย้ำความมั่นใจให้กับลูกค้าในประเทศไทย
รวมถึงค่ายเอ็มจี กำลังสำคัญของแบรนด์จีน ที่พร้อมเสริมทัพด้วย เอ็มจี แซดเอส รุ่นใหม่ ยังไม่นับรวมทางเลือกใหม่ๆจากค่ายรถหรู ที่พร้อมปูพรมเอาใจแฟนด้วยทางเลือกใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องเช่นกัน นับเป็นทิศทางที่น่าสนใจของตลาดยานยนต์ในประเทศไทย หลังผ่านพ้นช่วงเวลาของบีอีวีฟีเวอร์ ส่วนจะไต่ไปถึงยอดขาย 600,000 คัน ตามที่คาดการณ์ไว้หรือไม่ ยังคงต้องตามดูกันต่อไป