ตลาด “รถหรู” ฝ่าวิกฤติ 2024 จัดทัพรถใหม่เติมเกมต้นปี
ค่ายพรีเมียมคาร์ ก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากในปีที่ผ่านมา เดินไปในทิศทางเดียวกับภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ สะท้อนสภาพเศรษฐกิจในประเทศที่เป็นปัจจัยสำคัญในการจับจ่ายใช้สอย พร้อมเติมความเข้มข้นให้กับตลาดด้วยรถรุ่นใหม่ๆ ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค ไล่ล่าความสำเร็จตั้งแต่ต้นปี
ทิศทางของตลาดพรีเมียมคาร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นมา ซึ่งเติบโตจากปีก่อนหน้ากว่า 10,000 คัน ด้วยยอดขายทั้งสิ้น 34,597 คัน ทั้งยังเดินไปในทิศทางที่ยอดเยี่ยมด้วยยอดขาย 36,068 คัน ขยายตัวเพิ่มขึ้นราว 4.2% สวนทางกับภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่หดตัวลงมากกว่า 8%
ทว่าด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว รวมถึงการเข้ามาของค่ายยานยนต์สัญชาติจีน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลโดยตรงต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ในช่วงที่เวลายากลำบาก ด้วยยอดขายสะสมที่คาดว่าจะปิดตลาดไม่เกิน 600,000 คัน ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดของตลาดในรอบกว่า 20 ปี
ไม่เว้นแม้ตลาดพรีเมียมคาร์ ที่ต้องเจอกับสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นเดียวกัน เนื่องด้วยภาพรวมทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบ ไล่เลียงจากผู้บริโภค ไปจนถึงเจ้าของธุรกิจหรือผู้ประกอบการที่เป็นกลุ่มลูกค้าของตลาดรถหรู ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการชะลอการตัดสินใจซื้อนับตั้งแต่ช่วงต้นปี
ไม่เว้นแม้ตลาดรถหรูที่ปิดยอดจดทะเบียนหลังผ่าน 6 เดือนแรกของปี จำนวนทั้งสิ้นมากกว่า 16,000 คัน เดินไปในทิศทางเดียวกับภาพรวมของตลาด ซึ่งลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้ากว่า 23% ซึ่งแต่ละแบรนด์ล้วนได้รับผลกระทบ มีเพียง วอลโว่ และ เลกซัส ที่มียอดจดทะเบียนเติบโตสวนทางตลาด
โดย บีเอ็มดับเบิลยู ยังคงครองสัดส่วนมากที่สุดในตลาดกว่า 35% ด้วยยอดจดทะเบียนทั้งสิ้น 6,618 คัน ลดลง 699 คัน ราว 9.5% รองลงมาได้แก่ เมอร์เซเดส-เบนซ์ จำนวนทั้งสิ้น 5,144 คัน ครองสัดส่วน 27% ลดลงจากปีก่อนหน้า มากกว่า 2,500 คัน
ถัดมาได้แก่ วอลโว่ เป็นหนึ่งในค่ายที่มียอดจดทะเบียนเพิ่มขึ้น ด้วยจำนวนทั้งสิ้น 2,057 คัน เติบโตเพิ่มขึ้น 4.7% ครองส่วนแบ่งมากกว่า 10% ตามด้วย ปอร์เช่ จำนวน 856 คัน ลดลง 3.2%. ครองแชร์ 4.5% รวมถึง มินิ ที่ครองส่วนแบ่งกว่า 4% ด้วยยอดจดทะเบียน 738 คัน ลดลง 3.7%
จากทิศทางดังกล่าว ส่งผลให้แต่ละค่ายต้องขยับตัว เสริมทัพด้วยรถรุ่นใหม่ๆ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ภายใต้ราคาที่จับต้องได้ง่ายยิ่งขึ้น ในช่วงเวลาที่สงครามราคาของค่ายผู้ผลิตสัญชาติจีนขับเคี่ยวกันอย่างหนัก ที่เป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่สร้างความลังเลใจให้กับผู้บริโภค
การนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศไทยรวมถึงในภูมิภาค เป็นหนึ่งในแนวทางที่หลายค่ายเลือกใช้ ส่งผลให้สามารถทำราคาได้ดียิ่งขึ้น กระตุ้นการตัดสินใจจับจองเป็นเจ้าของจากผู้บริโภค สร้างโอกาสเก็บเกี่ยวยอดขายในช่วงครึ่งปีหลัง อย่างไรก็ดียังขึ้นอยู่กับทิศทางของเศรษฐกิจ ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลโดยตรงต่อการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค ในช่วงเวลาที่หลายฝ่ายมองว่าน่าจะเป็นอีกปีที่ยากลำบากของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และคาดว่าจะลดตัวลงในทุกเซ็กเมนต์ รวมถึงตลาดพรีเมียมคาร์ด้วยเช่นกัน
ส่วนทิศทางของตลาดรถหรูในปีนี้ คาดว่าจะเป็นไปอย่างเข้มข้น ด้วยการขยับตัวของค่ายยานยนต์ที่พร้อมเดินหน้าเสริมทัพด้วยรถรุ่นใหม่ๆ สานต่อทิศทางที่ดีนับตั้งแต่ในบรรยากาศของงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป ซึ่งปูพรมด้วยทางเลือกที่หลากหลายตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค
พร้อมนำเสนอยานยนต์ทางเลือกที่มีให้จับจองเป็นเจ้าของ ทั้งภายใต้เครื่องยนต์สันดาปภายใน รวมถึงขุมพลังไฮบริด ไล่เลียงไปจนถึงยานยนต์พลังงานไฟฟ้า และซูเปอร์ลักชัวรี่คาร์ ที่ยังคงมาพร้อมการตอบรับที่ยอดเยี่ยมจากลูกค้าในประเทศไทย ซึ่งแต่ละแบรนด์ยังคงมีฐานแฟนที่แข็งแกร่ง
อย่างไรก็ดีทิศทางของเศรฐกิจยังคงเป็นตัวแปรที่สำคัญในการกระตุ้นการตัดสินใจซื้อจากลูกค้า ที่ได้ไล่เลียงไปก่อนหน้านี้แล้วว่าส่วนใหญ่เป็นเจ้าของธุรกิจและผู้ประกอบการ รวมถึงลูกค้ารายใหม่ๆ ที่อาจจะขยับขึ้นเป็นลูกค้าพรีเมียมคาร์ หากสภาพเศรษกิจเดินไปในทิศทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับ
โดยคาดว่าในปี 2025 ตลาดพรีเมียมคาร์น่าจะมีความคึกคักขึ้นเป็นลำดับ โดยมี 3 ค่ายท็อปทรีอย่าง บีเอ็มดับเบิลยู, เมอร์เซเดส-เบนซ์ และวอลโว่ เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ รวมถึงเพื่อนร่วมตลาดค่ายอื่นๆ ที่พร้อมเติมเต็มความคึกคัก และสร้างสีสันด้วยรถรุ่นใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องเช่นกัน