จอ…จ่อ…จ้อ…445 ขอบคุณ…ทุกๆ “เจ้านาย” ขอบคุณ ทุกๆประสบการณ์ ต้นทาง…ความสำเร็จ
หนังสือพิมพ์ยวดยาน ฉบับที่กำลังวางตลาดอยู่ในสัปดาห์นี้…ก้าวสู่ปีที่ 24 เป็นเรื่องที่ “รามอินทรา” และทีมงานภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ยิ่งเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ ที่อยู่ในวังวนแห่งโลกออนไลน์ ยิ่งอยู่ยากขึ้น ความมั่นคงของ “ยวดยาน” ถูกตั้งเป็นคำถามบ่อยครั้งว่า ทำไมถึงอยู่ได้ แถมอยู่อย่างมั่นคงอีกด้วย ก้อ…ตอบเหมือนกันทุกครั้ง อยู่ได้ด้วยสำนึกแห่งความรับผิดชอบ ที่ตั้งเป้าไว้ชัดเจนตั้งแต่ฉบับแรกจะเป็น “สื่อ” ที่มีความแตกต่างชัดเจน อาจเป็นเพระความเป็น “หนังสือพิมพ์” ที่ไม่เหมือนกับนิตยสาร การนำเสนอข่าวก็ไม่เหมือนกัน รวมถึงยังมีคอลัมน์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ และหาไม่ได้จาก “สื่อ” ฉบับไหน?
วันเปลี่ยนเวลาผ่าน…เมื่อ “สื่อสิ่งพิมพ์” กลายเป็น “สื่อดั้งเดิม” สื่อล้าสมัย นิตยสารต่างๆอยู่ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง แต่… “ยวดยาน” ยังคงดำรงอยู่ ภายใต้…แนวคิดต้องมี “อะไร” เปลี่ยนแปลงบ้าง เรื่องเนื้อหาสาระและคอลัมน์ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง แล้วอะไรล่ะ? สุดท้ายก็มีคำตอบ…เมื่อวันหนึ่ง “รามอินทรา” จำเป็นต้องนั่งดู “กานต์” ปฐมพงศ์ มีเหม็ง ฝ่ายศิลป์ จัดหน้าหนังสือแล้วเริ่มมีแนวคิด โดยเฉพาะความชัดเจนบนหน้าปก ความได้เปรียบที่เป็นหนังสือพิมพ์ มีขนาดใหญ่กว่านิตยสาร จึงกลายเป็นแนวคิด…เป็นหนังสือพิมพ์ผสมนิตยสาร จนทุกคนได้เห็นความเปลี่ยนแปลง เป็น “นิวยวดยาน” ที่โอเคเลย
อย่าถาม…รู้สึกอย่างไร? เหนื่อยขึ้นนั้นแน่นอน เพราะทุกสัปดาห์ต้องร่วมมือกับ “กานต์” เพื่อทำแต่ละหน้าให้สวยงาม…สวยงามมากขึ้นทุกสัปดาห์ บางครั้งจึงจำเป็นต้องพึ่งพา “ออย” สมบูรณ์ คัมภีระ เป็นคนสนับสนุนเรื่องรูป ทั้งรูปรถและรูปคน ก็เลยยิ่งทำให้ทำงานได้ง่ายขึ้น ขณะที่ “รามอินทรา” ก็ยังคงต้องเขียนหนังสือที่เป็นหน้าที่ของตัวเองให้เร็วขึ้น เพื่อจะได้มีเวลามาช่วยกันดูแลหน้าตาของ “ยวดยาน” โดยเฉพาะ “หน้าปก” ที่อยากบอก…เกินความคาดหมาย เพราะเจอะเจอทางออกโดยไม่ตั้งใจ แต่…กลายเป็นความใช่ ใช่ทั้งของ “เรา” และของคนยานยนต์ “ยวดยาน” เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่สามารถซัพพอร์ตข่าวคราวความเคลื่อนไหวของคนยานยนต์ ได้อย่างสวยงามและอลังการ
ก้าวที่ 24 ของ “ยวดยาน” เป็นอีกความภาคภูมิใจของ “รามอินทรา” ยอมรับ…บางครั้งเคยท้อ บางครั้งอยากวางมือ ด้วยอายุเกิน 70 ปีแล้ว ไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วงแล้ว สุดท้าย…ก็วางไม่ลง ใครจะเป็นอย่างไร? ไม่สำคัญเท่า “รามอินทรา” ที่สร้าง “ยวดยาน” มากับมือ แต่ที่มากกว่าความภาคภูมิใจ คือขอบคุณตัวเอง ที่ใช้ทุกประสบการณ์ของการเป็น “คนทำงาน” มาทุ่มเทให้ สิ่งสำคัญยิ่ง ขอบคุณทุกๆเส้นทาง บนเส้นทางของการแสวงหา ที่สอนให้เป็น “คนทำงาน” ที่ไม่เอาเปรียบเพื่อนร่วมงาน และในชีวิตเป็นคน “ลางาน” น้อยถึงน้อยมาก รวมถึงการถูกสอนให้ตรงต่อเวลา โดยเฉพาะการส่งงาน และการมีส่วนร่วมกับทีมงาน จนหยิบมาเขียนเป็น จอ…จ่อ…จ้อ ประจำสัปดาห์นี้
มากกว่าขอบคุณ
“รามอินทรา”
บ้านชินเขต
1 มิถุนายน 2565