จอ…จ่อ…จ้อ…540 ความคุ้นเคย…คนยวดยาน สูจิบัตร “มอเตอร์ไซค์” ความภูมิใจ…ในยวดยาน
จบงานใหญ่งานเยอะของ “รามอินทรา” ไปเรียบร้อยแล้วทุกปีก่อนงานบางกอก มอเตอร์โชว์ จนเริ่มไม่อยากนับจำนวน “ยวดยาน” ที่ต้องปิดเล่ม เพราะยังมีสูจิบัตรอีก 12 วัน ก้อ…เริ่มกันตั้งแต่เริ่มเข้าสู่เดือนมีนาคมเลย “ปิ๋ว…ปิ๋ว” วรางคณา รัตนพันธ์ จะเป็นคนวางดัมมี่ทั้ง “ยวดยาน” และสูจิบัตร ซึ่งก็เป็นการปิดต้นฉบับที่ต่อเนื่องกัน เพราะ “สูจิบัตร” ต้องจัดทำเนื้อใน 2 ชุด หน้าปกอีก 12 ปก ส่วน “ยวดยาน” ก็ต้องปิดทุกวันจันทร์-อังคาร แต่ก็ต้องเรียงตามความเหมาะสม ปิดกันแบบเล่มชนเล่ม และโปรดอย่าถาม…เป็นเยี่ยงไร? เพราะไม่ต้องลืมหูลืมตากันเลยล่ะ ที่สำคัญ…ต้องจัดสรรให้ถูก ข่าวไหนลงยวดยาน ข่าวไหนเป็นของสูจิบัตร รวมถึง “ฝ่ายศิลป์” ก็ต้องจัดหน้าให้ถูกต้อง ไม่ยังงี้…มีสิทธิ์จัดหน้าสลับเล่ม เพียงแต่…เป็นสิ่งที่ทีมงาน จัดทำมาเป็นประจำนานหลายปีแล้ว ก้อ…เลยพอจะรับมือไหว แต่มึนงงเล็กน้อย
ส่วน “รามอินทรา” กับ “ปิ๋ว…ปิ๋ว” จะรับบทมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการติดตามหน้าโฆษณา แถมยังมีคอมเม้นท์ “ประธานบริษัท” ที่ต้องนำมาลงที่หน้าปก หรือบางครั้งก็ต้องช่วยดูแลอาร์ตเวิร์คอีกด้วย เขียนยังงี้…เหมือนจะมีปัญหา แต่นั่นหมายความถึงคนที่อาจไม่เคยจัดทำ แต่ “ปิ๋ว…ปิ๋ว” ไม่มีปัญหา อันไหนติดขัดกัน…ส่งผ่านมาให้ “รามอินทรา” ช่วยติดตาม ก็ต้องขอบคุณ “คนบริษัท” ทุกคน ที่น่ารักเป็นอย่างยิ่ง ไม่เคยหงุดหงิดไม่เคยมีปัญหา เวลาถูกกริ๊งกร๊างตาม เพราะเข้าใจในความจำเป็นที่ “สูจิบัตร” ต้องปิดต้นฉบับให้ทัน ด้วยฉบับแรกนั้น…พอเปิดงานตอนเช้า ตอนเย็นสูจิบัตรก็พิมพ์เสร็จพร้อมแจก มีเรื่องขำๆ…เคยเอาไปให้ “เจ้านาย” ดร.ปราจิน เอี่ยมลำเนา แบบสดๆเปียกๆ พอจับปุ๊บต้องรีบวาง เหมือนหมึกยังไม่แห้ง เสร็จหมาดๆ แบบหยิบปุ๊บรู้สึกปั๊บ “รามอินทรา” ยกจากโรงพิมพ์ต้องตากไปที่กระโปรงหลัง ตั้งใจว่าจะแห้งทันแต่ก็แค่หมาดๆ
ปีนี้…น่าจะเบามือหลังวันสงกรานต์แหละ เพราะยังมีซัพพลีเม้นท์ของรถฟอร์ดอีก 4 หน้า ที่จะเป็นคลุมปกวางตลาดวันที่ 22 เมษายน จบงานมอเตอร์โชว์ก็ได้เวลาปิดพอดีแหละ เป็นความสนุกแบบ “ยวดยาน” จริงๆ เป็นอีกความคุ้นชินที่ “รามอินทรา” และทีมงาน “ยวดยาน” ทำกันเป็นประจำทุกช่วงเวลานี้แหละ แต่ก็เป็นอีกความภูมิใจด้วย “สูจิบัตรมอเตอร์โชว์” เป็นเหมือนอีกหนังสือพิมพ์ที่แจกในงาน 12 วัน เป็นสิ่งคุ้นเคยของคนที่เข้ามาชม รวมถึงทุกบริษัทที่มีส่วนร่วมสนับสนุนในการจัดทำจนกลายเป็นประเพณีที่สวยงามของ “คนยวดยาน” ใครที่ไปชมงานคงได้เห็นกันบ้างแล้วใช่มั้ย เป็นสูจิบัตรฉบับเดียวที่มีขนาดใหญ่ได้จริงๆ
ขอบคุณที่ทำให้ทีมงานได้ทำงานอย่างมีความสุข ปีหน้าเจอกันใหม่นะครับ
มากกว่าขอบคุณ
“รามอินทรา”
บ้านชินเขต
27 มีนาคม 2567