“ตลาดรถ” หลังวิกฤติ เชื่อมั่น “เติบโต” รถใหม่-รถไฟฟ้า เข้าคิวลงตลาด
อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ยังคงเดินไปในทิศทางบวก นับตั้งแต่วิกฤติโควิด-19 คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับ สร้างอัตราเติบโตเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะขยับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง ด้วยปัจจัยด้านผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงกลยุทธ์จากค่ายผู้ผลิต ที่กระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค สร้างบรรยากาศที่ยอดเยี่ยมในการจับจ่ายใช้สอย โดยมีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเป็นหนึ่งในผู้เล่นสำคัญ
ภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในช่วงครึ่งแรกของปี เดินไปในทิศทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับ โดยมีงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ เป็นหนึ่งในแรงผลักสำคัญ หลังผ่านช่วงวิกฤติ นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโคโรนา ไวรัส 2019 ส่งผลให้บรรดาค่ายผู้ผลิตสามารถขยับตัวได้มากขึ้น เห็นได้จากรถที่เข้าร่วมงานที่มีความหลากหลายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% ซึ่งเป็นเทรนด์ของยานยนต์ในยุคปัจจุบัน ที่เป็นหนึ่งในไฮไลต์และสร้างสีสันให้กับงาน
ทว่า ปัญหาขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ยังคงส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งแต่ละค่ายต่างโดนเล่นงานและหาทางแก้ปัญหาในรูปแบบที่แตกต่างกันไป อย่างไรก็ดี คาดว่าปัญหาดังกล่าวจะคลี่คลายไปในทิศทางบวก และน่าจะเบาบางลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อทิศทางการทำตลาดของค่ายผู้ผลิต สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น
ในปีที่ผ่านมา ตลาดรถยนต์ในประเทศไทยปิดตัวเลขที่ 759,119 คัน ลดลง 4.2% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า และน่าจะเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่โดนโควิด-19 เล่นงาน หากเทียบกับทิศทางในปีนี้หลังผ่าน 4 เดือนแรก สามารถเก็บเกี่ยวยอดขายไปได้ทั้งสิ้น 294,616 คัน เพิ่มขึ้น 16.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 สะท้อนถึงภาพรวมทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเป็นลำดับ
ขยับไปดูที่ภาคการผลิต เดินไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน โดยยอดการผลิตรถยนต์ใน 4 เดือนแรกของปี มีจำนวนทั้งสิ้น 597,864 คัน เพิ่มขึ้น 4.85% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ที่มียอดการผลิต 570,188 คัน ขณะที่ภาคการส่งออกในภาพรวมลดลงกว่าปีที่ผ่านมา มีจำนวนทั้งสิ้น 303,821 คัน ลดลง 8.04% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดี คาดว่าจะสามารถขยับเพิ่มขึ้นและปิดตัวเลขในแดนบวก
เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการคาดการณ์ของยักษ์ใหญ่อย่างโตโยต้า ที่มองว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ในปีนี้จะเติบโตเพิ่มขึ้น โดย มร.โนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวถึงแนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2565 ว่า “เป็นไปได้ว่าโควิด-19 จะยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย”
“อย่างไรก็ดี เราคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะกลับคืนสู่สภาวะปกติอย่างค่อยเป็นค่อยไป พร้อมๆ กับการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจโดยรวมทั้งหมด นอกจากนี้ ประชาชนเองก็เรียนรู้วิธีการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด-19 ให้ได้อย่างปลอดภัยแล้ว ส่วนปัญหาชิ้นส่วนการผลิตขาดตลาด ก็จะค่อยๆ คลี่คลายลงเช่นกัน เราคาดหวังว่าอุตสาหกรรมยานยนต์จะกลับคืนสู่สภาวะปกติและคาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ในปี 2565 จะอยู่ที่ 860,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 13.3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว”
รวมถึง วิจัยกรุงศรี ที่มองว่า การผลิตรถยนต์ของไทยในระยะ 3 ปีข้างหน้า มีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ย 4.0-6.0% ต่อปี โดยคาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเริ่มมีทิศทางดีขึ้น หลังการฉีดวัคซีนครอบคลุมจำนวนประชากรมากขึ้น ปัญหาขาดแคลนแรงงานบรรเทาลง และปัญหาขาดแคลนชิปน่าจะเริ่มคลี่คลายในช่วงครึ่งหลังของปี 2565
ซึ่งยอดขายในประเทศมีแนวโน้มขยายตัว 3.0-5.0% ในปี 2565 และเติบโตเฉลี่ย 4.0-6.0% ต่อปี ในปี 2566 และปี 2567 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคดีขึ้น โดยความต้องการรถยนต์เพื่อการพาณิชย์จะขยายตัวดี อานิสงส์จากการขยายตัวของภาคก่อสร้าง ธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ และโลจิสติกส์ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีแผนเปิดตัวรถรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้งรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน
ขณะที่ปริมาณส่งออกรถยนต์จะเติบโต 5.0-7.0% ในปี 2565 และเติบโตเฉลี่ย 4.0-6.0% ต่อปี ในปี 2566 และปี 2567 ปัจจัยหนุนจากญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นฐานผลิตเพื่อส่งออกมากขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าฟื้นตัว ตลอดจนการจัดทำข้อตกลงยอมรับร่วมในภูมิภาคอาเซียนเกี่ยวกับผลตรวจสอบและรับรองมาตรฐานความปลอดภัยของยานยนต์และชิ้นส่วน จะช่วยลดขั้นตอนการถูกตรวจสอบซ้ำ รวมถึงโอกาสส่งออกไปยังตลาดฟิลิปปินส์จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากโรงงานผลิตรถยนต์ทยอยปิดตัวอย่างต่อเนื่อง
ด้านตลาดรถจักรยานยนต์มีแนวโน้มเติบโต 2.0-4.0% และเติบโตเฉลี่ย 3.0-5.0% ต่อปีในปี 2566 และปี 2567 ปัจจัยหนุนจากภาครัฐทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคระบาด ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น หนุนแรงงานรากหญ้าซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักมีกำลังซื้อเพิ่ม ด้านตลาดส่งออก คาดว่าปริมาณจะเติบโต 4.0-6.0% ในปี 2565 และเติบโตเฉลี่ย 3.0-5.0% ต่อปี ในปี 2566 และปี 2567 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า
เมื่อมองจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เชื่อได้ว่าในช่วงครึ่งปีหลังภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์จะยังคงเดินไปในทิศทางบวก ทั้งจากการเดินกลยุทธ์ของค่ายผู้ผลิต บวกกับทิศทางของเศรษฐกิจที่น่าจะส่งผลให้ผู้บริโภคมีกำลังที่จะจับจ่ายใช้สอยได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศไทย ที่มีอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหนึ่งในธุรกิจหลัก สร้างเม็ดเงินและสร้างงาน
หลังจากนี้ คาดว่าแต่ละแบรนด์พร้อมที่จะเดินเครื่องชิงยอดขายและสร้างการเติบโตด้วยรถรุ่นใหม่ๆ โดยมีรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% เป็นหนึ่งในทางเลือก ด้วยความน่าสนใจของผลิตภัณฑ์ บวกกับราคาที่จับต้องได้ง่ายยิ่งขึ้น หลังการดำเนินมาตรการด้านภาษีและเงินสนับสนุนจากภาครัฐบาล ที่จะกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค รวมถึงกระตุ้นการลงทุนจากค่ายผู้ผลิตด้วยเช่นกัน