“มาสด้า” ขายทะลุ 3 หมื่น ลุยเต็มสูบ ล็อกเป้าโต 10%
มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) สรุปผลการดำเนินธุรกิจประจำปี 2565 ฝ่าวิกฤติด้วยยอดขาย 31,638 คัน ครองอันดับ 3 ตลาดรถยนต์นั่ง นำทัพโดย มาสด้า2 ที่ครองสัดส่วนเกินครึ่ง พร้อมเดินหน้าเสริมทัพด้วยรถรุ่นใหม่ทุกไตรมาส สร้างความแข็งแกร่งควบคู่กับการเดินกลยุทธ์ด้านการขาย ตั้งเป้าเติบโตเพิ่มขึ้น 10% ไล่ล่ายอดขาย 35,000 คัน
อุตสาหกรมยานยนต์ในประเทศไทย เดินไปในทิศทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับ หลังโดนวิกฤติโควิด-19 แช่แข็งในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา กลับโดนซ้ำด้วยภาพรวมทางเศรษฐกิจและปัญหาขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ที่เป็นตัวชะลอ ส่งผลให้ยอดขายไม่เติบโตเท่าที่ควรจะเป็น ในช่วงเวลาที่ผู้บริโภคเริ่มมีกำลังและพร้อมที่จับจ่ายใช้สอย สวนทางกับค่ายผู้ผลิตที่ไม่สามารถส่งมอบรถให้กับลูกค้า
โดยภาพรวมเศรษฐกิจประเทศไทยปี 2565 ถือว่าปรับตัวดีขึ้นกว่าในช่วง 2 ปีก่อนหน้า จากการฟื้นตัวของภาคเอกชน บวกกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น การกระตุ้นเศรษฐกิจจากนโยบายภาครัฐ ผลักดันให้ธุรกิจต่างๆ เดินหน้าต่อไปได้ ส่งผลให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยเติบโตเพิ่มขึ้นราว 12% ด้วยยอดขายสะสมราว 850,000 คัน ใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี
มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับเพื่อนร่วมตลาด อย่างไรก็ดี ยังสามารถขับเคลื่อนธุรกิจฝ่าช่วงวิกฤติและเดินหน้าเก็บเกี่ยวยอดขายได้ตามที่คาดการณ์ ด้วยยอดจำหน่ายประจำปีรวมทั้งสิ้น 31,638 คัน ลดลงจากปีก่อนหน้า 10.59% ทว่า ยังรั้งอันดับ 3 ในตลาดรถยนต์นั่ง
นำทัพโดยตัวขาย อย่าง มาสด้า2 จำนวน 16,249 คัน รองลงมาได้แก่ มาสด้า CX-30 จำนวน 6,092 คัน และมาสด้า CX-3 จำนวน 4,249 คัน ขณะที่ มาสด้า3 มียอดขาย 1,553 คัน ตามด้วย รถปิกอัพ บีที-50 ที่มียอดขาย 1,506 คัน ส่วน มาสด้า CX-8 ขายได้ 1,157 คัน ปิดท้ายด้วย มาสด้า CX-5 จำนวน 824 คัน และ มาสด้า MX-5 จำนวน 8 คัน
โดย มร.ทาดาชิ มิอุระ ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) ได้แสดงมุมมองถึงทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2566 ว่า “ตลาดรถยนต์จะมีปริมาณการขายใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าจะมีหลายปัจจัยเข้ามาสนับสนุนและกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศมากกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและภาคการเกษตรที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนเพื่อการผลิตเริ่มคลี่คลายลง”
“แต่ยังคงต้องจับตามองเรื่องประเด็นความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ และเชื่อว่าในปี 2566 ตลาดจะมีการแข่งขันกันรุนแรงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาทำตลาด แต่ทั้งนี้โดยรวมแล้ว คาดว่าตลาดรถยนต์จะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา หรืออยู่ที่ประมาณ 850,000-870,000 คัน ซึ่งมาสด้ายังคงมั่นใจอย่างยิ่งว่าปีนี้จะเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 10% หรือมีตัวเลขยอดขายรวมอยู่ที่ประมาณ 35,000 คัน”
ขณะที่ นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ รองประธานบริหารอาวุโส บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เสริมว่า “มาสด้ายังคงมุ่งมั่นเดินหน้าตามแผนงานระยะกลาง มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าแบรนด์ ผ่านการยกระดับประสบการณ์ลูกค้าในทุกมิติ เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าตลอดระยะเวลาที่ครอบครองรถยนต์มาสด้า และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับแบรนด์มาสด้าในประเทศไทย”
สำหรับกลยุทธ์ที่วางไว้ประกอบด้วย การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของแบรนด์ ด้วยการนำเครื่องมือทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะดิจิทัลแพลตฟอร์มมาใช้สื่อสารกับลูกค้าและแฟนมาสด้า แบบ One-to-One Communication รวมถึงการนำฐานข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านระบบ Global One Customer Data Management System ควบคู่ไปกับการสร้างประสบการณ์และความพึงพอใจของลูกค้า
พร้อมวางโยบายด้านการขายที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันทางด้านราคาและสร้างความพอใจสูงสุดให้กับลูกค้า ควบคู่กับเพิ่มจำนวนลูกค้าที่ชื่นชอบในแบรนด์และผลักดันให้เกิดการซื้อซ้ำมากยิ่งขึ้น ด้วยธุรกิจมือสอง เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าที่มองหารถยนต์มือสองคุณภาพดีที่ผ่านการรับคุณภาพโดยมาสด้า สร้างความยั่งยืนให้กับแบรนด์มาสด้าในประเทศไทย
รวมถึงการพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของมาสด้าให้ดียิ่งขึ้น ตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวันและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยวางแผนปรับโฉมผลิตภัณฑ์และเปิดตัวสู่ตลาดในทุกไตรมาสของปี พร้อมเดินหน้าวางรากฐานสู่การนำเสนอรูปแบบพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้สถานการณ์และกรอบเวลาที่เหมาะสม เพื่อบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ ภายในปี 2593