“มาสด้า” ปิดยอด 3.5 หมื่น ปรับทัพล็อกเป้าเติบโต 15%
มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) เผยผลประกอบการประจำปีงบประมาณ 2564 ครองส่วนแบ่งทางการตลาด 4.5% ด้วยยอดขาย 35,654 คัน นำทัพโดยมาสด้า2 ที่ครองสัดส่วนมากกว่าครึ่ง พร้อมปรับกลยุทธ์การบริหารธุรกิจ ตั้งเป้าไล่ล่ายอดขาย 40,000 คัน เติบโตเพิ่มขึ้น 15%
“จากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังด้านการใช้จ่าย เนื่องจากไม่แน่ใจต่อสถานการณ์ และยังส่งผลกระทบถึงโรงงานผลิตชิ้นส่วนหลายแห่งต้องหยุดการผลิต ทำให้เกิดการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิตและกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งระบบ อย่างไรก็ดี ยังมีสัญญาณบวกจากการที่ประชาชนได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้น การผ่อนคลายมาตรการต่างๆ จากภาครัฐ”
“ส่งผลให้ภาพรวมอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย ปีงบประมาณ 2564 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2563 ที่ 1% ประมาณ 795,000 คัน โดยตลาดรถปิกอัพได้รับความนิยมสูงสุด มีจำนวนรวม 357,000 คัน ตามด้วยรถยนต์นั่ง จำนวน 214,000 คัน รถอเนกประสงค์เอสยูวี (รวม PPV) จำนวน 143,000 คัน และรถอื่นๆ จำนวน 81,000 คัน ซึ่งในจำนวนนี้มีรถยนต์พลังงานไฟฟ้า จำนวน 2,097 คัน” นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ รองประธานบริหารอาวุโส บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงภาพรวมในปีที่ผ่านมา
สำหรับค่ายมาสด้า ปิดยอดปีงบประมาณ 2564 (ระหว่างเดือนเมษายน 2564-มีนาคม 2565) ที่ตัวเลข 35,654 คัน ลดลง 11% จากปีก่อนหน้า ครองส่วนแบ่งการตลาด 4.5% แบ่งเป็น ยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งจำนวน 20,115 คัน โดยเฉพาะมาสด้า2 ที่ยังร้อนแรงต่อเนื่อง ด้วยยอดขายเกินกว่าครึ่ง จำนวน 18,426 คัน รองลงมาได้แก่ มาสด้า3 จำนวน 1,685 คัน และมาสด้า MX-5 จำนวน 4 คัน
ขณะที่รถปิกอัพ มาสด้า BT-50 ปิดยอดขายที่ 1,224 คัน ส่วนครอสโอเวอร์เอสยูวีตระกูล CX-Series มีจำนวนทั้งสิ้น 14,315 คัน เติบโตเพิ่มขึ้น 2% จำแนกเป็น รถครอสโอเวอร์เอสยูวี มาสด้า CX-30 มียอดขายสูงสุด จำนวน 6,879 คัน รองลงมาได้แก่ มาสด้า CX-3 จำนวน 5,378 คัน ตามด้วย มาสด้า CX-8 จำนวน 1,074 คัน และมาสด้า CX-5 จำนวน 984 คัน
ในปีนี้มาสด้าพร้อมเดินหน้าเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ที่มาพร้อมเครื่องยนต์สันดาปภายใน ที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีและความปลอดภัย ให้การประหยัดน้ำมันที่ดีเยี่ยม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ของมาสด้า และเชื่อว่ารถยนต์ภายใต้เครื่องยนต์สันดาปภายในจะยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องจากลูกค้าในประเทศไทย อย่างไรก็ดี ได้เตรียมความพร้อมเพื่อสนับสนุนนโยบายของภาครัฐ
และร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยจะทำการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับตลาดในประเทศไทยแบบเป็นขั้นเป็นตอน ภายใต้กรอบเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้ลูกค้าได้รับเทคโนโลยีที่ดีที่สุด ในเวลาช่วงที่เหมาะสมที่สุดกับการใช้งานในชีวิตประจำวัน
ทั้งยังได้วิเคราะห์ว่าสถานการณ์ในปีนี้ แม้ว่าจะยังมองไม่เห็นปัจจัยบวกที่ชัดเจน ทั้งยังมีปัจจัยลบที่อยู่นอกเหนือการควบคุมรอบด้าน อาทิ ความตึงเครียดในทวีปยุโรป ภาวะเงินเฟ้อและค่าเงินบาทที่มีความผันผวน รวมถึงความหวาดหวั่นต่อการกลายพันธุ์ของโรคโควิด-19 ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ระบบขนส่งโลจิสติกส์ และการขาดแคลนชิ้นส่วนเพื่อผลิตรถยนต์
อย่างไรก็ดี ยังเชื่อว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว บวกกับภาคประชาชนที่ได้รับวัคซีนเป็นวงกว้าง รวมถึงการเตรียมปรับเป็นโรคประจำถิ่น การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศ และมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ จะเป็นแรงผลักดันให้เศรษฐกิจฟื้นกลับมาได้เร็วขึ้น แม้ว่าจะไม่ได้เติบโตหวือหวามากนัก แต่เชื่อว่าจะดีกว่าปีผ่านมา ส่งผลให้อุตสาหกรรมรถยนต์ในปีงบประมาณนี้จะมียอดขายรวมอยู่ที่ประมาณ 820,000-850,000 คัน โดยมาสด้าคาดว่าจะมียอดขายมากกว่า 40,000 คัน หรือเติบโตเพิ่มขึ้น 15%