“มาสด้า” เดินเครื่องปี 2566 เปิดตัวใหม่ ควบคู่งานบริการ
มาสด้าเดินเครื่องปี 2566 เตรียมปรับแผนธุรกิจตามเป้าหมายระยะกลาง ตั้งเป้าเปิดตัวรถใหม่ทุกไตรมาส พร้อมมุ่งเน้นให้ความสำคัญงานบริการหลังการขาย และปรับกลยุทธ์รูปแบบงานขาย หวังดันยอดขายถึง 35,000 คัน เติบโตขึ้นจากปีที่ผ่านมา 10%
เมื่อปีที่ผ่านมา มาสด้าตกอยู่ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดของตลาดรถยนต์ รวมถึงเจอปัญหาเรื่องการขาดแคลนชิ้นส่วนเพื่อการผลิต แต่ยังสามารถประคองยอดขายได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายเดิมที่วางไว้ มร.ทาดาชิ มิอุระ ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว
อย่างไรก็ดี ในปี 2566 คาดการณ์ตลาดรถยนต์ในประเทศยังคงมีการแข่งขันที่ดุเดือดขึ้น เนื่องจากมีแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาทำตลาด ทั้งนี้โดยรวมแล้ว คาดว่าอุตสาหกรรมยานยนต์จะกลับมาเติบโตใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา หรืออยู่ที่ประมาณ 850,000-870,000 คัน
ถึงแม้ว่าปีนี้ตลาดรถยนต์ในประเทศจะยังมีความท้าทายจากปัจจัยลบรอบด้าน แต่มาสด้ายังมุ่งตามแผนธุรกิจระยะกลาง ทั้งการเปิดตัวรถใหม่ และปรับกลยุทธ์รูปแบบการขาย และบริการหลังการขาย พร้อมตั้งเป้ายอดขายถึง 35,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 10%
“แม้จะมีหลายปัจจัยเข้ามาสนับสนุนและกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศมากกว่าปีที่ผ่านมา ทั้ง ธุรกิจการท่องเที่ยวเริ่มเปิดรับชาวต่างชาติมากยิ่งขึ้น ภาคการเกษตรเติบโตอย่างต่อเนื่อง การบริโภคของประชาชนเริ่มกลับมา รวมถึงปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนเพื่อการผลิตเริ่มคลี่คลายลง แต่ภาพรวมของระบบเศรษฐกิจยังไม่ได้หวือหวามากนัก”
ปีนี้ยังมีปัจจัยลบรอบด้านที่ยังคงต้องจับตามอง ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ในต่างประเทศที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก อาทิ ปัญหาเรื่องราคาและการขาดแคลนพลังงานในยุโรป ความยืดเยื้อของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน สถานการณ์เงินเฟ้อที่ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น และความเสี่ยงจากการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ในส่วนมาสด้า จะเดินหน้าอย่างเต็มรูปแบบตามแผนพัฒนาธุรกิจระยะกลาง เพื่อยกระดับคุณค่าของแบรนด์ผ่านโมเดลธุรกิจ “Retention Business Model” โดยให้ความสำคัญกับการสร้างคุณค่าของแบรนด์ (Brand Value Management) คือการสร้างความผูกพันกับลูกค้าในระยะยาว (Customer Retention Business) ส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า ด้วยบริการหลังการขายที่ดีที่สุด
“เราปรับแผนให้ธุรกิจเกิดการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและเกิดความยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งถือเป็นนโยบายหลักสำคัญที่มาสด้าจะยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อกำหนดเป็นกลยุทธ์ต่อจากนี้เป็นต้นไป และจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง แม้ว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนไป ผู้บริหารจะหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันมา แต่นโยบายนี้จะยังคงอยู่ และไม่มีวันเปลี่ยนแปลง” มร.มิอุระ กล่าว