“รามอินทรา” ยกนิ้วให้ 579 ส่องกล้อง… “บีวายดี” ก้าวย่างของ “หวัง ชวนฟู” ตั้งโรงงาน ฐานความเชื่อมั่น
วันนี้…ถ้าเขียนถึงความเคลื่อนไหวของ “รถไฟฟ้า” แล้วละก้อ… “รามอินทรา” เชื่อว่าหลายคนคงโฟกัสไปที่ “บีวายดี” ที่ไม่ใช่เป็นเพราะมาแรงแซงยอดขาย แต่น่าจะเป็นเพราะข่าวการจะเข้ามาปักฐานในเมืองไทย ด้วยการทุ่มทุนสร้างโรงงานผลิต เพื่อการส่งออกในเมืองไทย งานนี้…มร. หวัง ชวนฟู เบอร์ 1 ของ “บีวายดี” คอนเฟิร์มจะมาตั้งฐานการผลิต ในนิคมอุตสาหกรรม ดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 จำนวน 600 ไร่ เพื่อสร้างเป็นโรงงานผลิตรถนั่งไฟฟ้า เพื่อส่งออกไปจำหน่าย ประเทศในกลุ่มอาเซียนและยุโรป คาดว่าน่าจะเริ่มผลิตได้ในปี 2567 ซึ่งถือว่าเป็นข่าวดีอย่างยิ่ง
แสดงให้เห็นว่า… “บีวายดี” มุ่งมั่นที่จะยึดเมืองไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ และเป็นเหมือนการยืนยัน จะก้าวเข้ามาครอบครองตลาดรถไฟฟ้าในประเทศไทยอีกด้วย ซึ่งวันนี้…เริ่มชัดเจนแล้วว่า “บีวายดี” กลายเป็นรถไฟฟ้าที่เป็นอีกเป้าหมายของคนไทย จำนวนยอดขายที่ชัดเจนขึ้น จำนวนรถที่วิ่งให้เห็นบนท้องถนน คือคำตอบที่ชัดเจนยิ่ง ก้อ…ไม่แปลกใจกับการที่ “หวัง ชวนฟู” จะเติมความเชื่อมั่นให้หนักแน่นขึ้น ด้วยการเข้ามาสร้างฐานที่มั่นในประเทศไทย แน่นอน…ย่อมจะส่งผลต่อยอดไปถึงการเติมเต็ม โชว์รูมและศูนย์บริการ ที่น่าจะต้องขยายตัวตามไปด้วย เส้นทางของ “บีวายดี” จึงน่าสนใจเป็นยิ่งนัก เพราะยี่ห้อ “หวัง ชวนฟู” นั้นชัดเจนเป็นอย่างยิ่ง
อีกมุมมองที่ “รามอินทรา” เห็นเป็นสิ่งที่ดีสำหรับคนเป็นลูกค้า เมื่อ “บีวายดี” ปักฐานชัดเจน จะยิ่งทำให้เกิดความเชื่อมั่นสูงยิ่ง สำหรับคนอยากเป็นเจ้าของ ที่ได้เห็นการลงทุนที่จะกลายเป็นความพร้อมที่อยากจะเป็นเจ้าของ “บีวายดี” สักคัน เพราะต้องไม่ลืมว่า…ปีหน้าข่าวคราวของ “รถไฟฟ้า” ตระกูลจีนนั้น จะพาเหรดเข้าเมืองไทยอีกหลายยี่ห้อ การเลือกเป็นเจ้าของก็ชัดเจน เพราะใครมาจริงอยู่จริง เห็นชัดจากเป้าหมาย ไม่ใช่ส่งรถเข้าขาย ได้ก็อยู่ไม่ได้ก็ไป ใครเป็นเจ้าของ ก็คงไม่มีความสุข “บีวายดี” น่าจะสร้างฐานความเชื่อมั่นที่ชัดเจน และทำให้การเลือกการตัดสินใจเป็นเจ้าของ เป็นเรื่องง่ายยิ่งขึ้น
สุดท้าย… “รามอินทรา” ยกนิ้วให้กับ “หวัง ชวนฟู” และรถไฟฟ้ายี่ห้อ “บีวายดี” ที่จะเข้ามาสร้างฐานความเชื่อมั่นให้กับคนไทย เป็นความมุ่งมั่นที่ชัดเจนยิ่ง ใครเป็นเจ้าของก็สบายใจได้ เพราะมีโรงงานการผลิตอยู่ในเมืองไทย ทุกมุมมองชัดเจนและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
“รามอินทรา” ยกมือเชียร์กับการลงทุนของบีวายดี
มากกว่าขอบคุณ
“รามอินทรา”
บ้านชินเขต
25 ตุลาคม 2566