ศึก “รถกระบะ” ชิงเบอร์สาม ใครได้…ใครเสีย
รถกระบะยังคงเป็นทางเลือกอันดับต้นๆ ของผู้บริโภค ครองสัดส่วนกว่าครึ่งของภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย ส่งผลให้บรรดาค่ายผู้ผลิตตอบสนองความต้องการของตลาดด้วยรถรุ่นใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งจาก 2 เจ้าตลาดที่ขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้น รวมถึงการแย่งชิงอันดับ 3 ซึ่งมีความน่าสนใจไม่น้อย ด้วยจำนวนผู้เล่นรวมถึงทางเลือกที่หลากหลายยิ่งขึ้น ตอกย้ำบทบาทศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญของตลาดรถกระบะ
ตลาดรถกระบะยังคงเป็นผู้เล่นสำคัญที่ส่งผลต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ในบ้านเรา ด้วยความอเนกประสงค์สามารถตอบสนองการใช้งานได้หลากหลาย จึงเป็นทางเลือกอันดับต้นๆ ของผู้บริโภคในประเทศไทย และครองสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของอุตสาหกรรมรถยนต์ ส่งผลให้บรรดาค่ายผู้ผลิตวางประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถกระบะ เพื่อป้อนตลาดภายในประเทศ รวมถึงส่งออกไปยังตลาดโลกด้วยเช่นกัน
ด้วยทิศทางของตลาดรถกระบะหลังผ่าน 7 เดือน ที่มียอดขายสะสม 169,994 คัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 25.5% ที่มียอดขายรวม 228,070 คัน โดยในกลุ่มบนยังคงเป็นการขับเคี่ยวระหว่างอีซูซุ และโตโยต้า ที่ครองสัดส่วน 44.3% และ 39.5% ตามลำดับ ตามด้วย ฟอร์ด และมิตซูบิชิ ที่ครองส่วนแบ่ง 9.2% และ 5.2% ถัดไปเป็น นิสสัน เอ็มจี และมาสด้า
จากความเข้มข้นของการขับเคี่ยวในตลาด ส่งผลให้แต่ละค่ายต้องขยับตัวเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคด้วยรถรุ่นใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพิ่มความคึกคักให้กับตลาดด้วยรถรุ่นพิเศษที่ยกระดับสมรรถนะขึ้นไปอีกขั้น หลังการเปิดตลาดกระบะสูงสมรรถนะของ ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์ ที่เข้ามาสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับรถกระบะในประเทศไทย ซึ่งเป็นแนวทางที่หลากหลายค่ายเดินหน้าทำตลาดในช่วงที่ผ่านมา เติมความร้อนแรงให้กับตลาดรถกระบะ
ทว่าในช่วงที่ผ่านมา ความน่าสนใจอยู่ที่การเติบโตของค่ายฟอร์ด ที่เดินไปในทิศทางบวกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ครองอันดับ 3 ในตลาดรถกระบะ รองจาก 2 แบรนด์หลักเจ้าตลาด ด้วยผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์การใช้งาน รวมถึงความโดดเด่นของรูปโฉม ส่งผลให้รถกระบะฟอร์ด เรนเจอร์ เจนฯล่าสุด ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค ตอกย้ำกระแส แร็พเตอร์ ฟีเวอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งปัจจัยที่ผลักดันให้ค่ายฟอร์ด เดินหน้าเก็บเกี่ยวยอดขายได้เป็นกอบเป็นกำ รวมถึง เน็กซ์- เจน ฟอร์ด เรนเจอร์ ที่เข้ามาสานต่อความนิยมได้อย่างยอดเยี่ยม ปูพรมด้วยรุ่นย่อยกว่า 20 รุ่น
ไล่เลียงจาก เรนเจอร์ แร็พเตอร์, ไวลด์แทรค, สปอร์ต, XLT, XL+ และ XL ที่ตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้าทั้งในรูปแบบการขับขี่บนเส้นทางออนโรดและออฟโรด รองรับการทำงาน ค้าขาย รวมถึงการใช้ชีวิตกับครอบครัว หรือเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อน ก่อนจะเสริมทัพด้วย เรนเจอร์ แร็พเตอร์ ภายใต้ขุมพลังดีเซล 2.0 ลิตร ที่ได้รับการพัฒนาต่อยอดจากเจนฯก่อนหน้า และ เรนเจอร์ สตอร์มแทรค ทางเลือกใหม่สำหรับสายลุยที่มาพร้อมราวหลังคาและสปอร์ตบาร์แบบปรับได้ ที่เข้ามาเติมเต็มไลน์อัพในประเทศไทย
ด้วยการตอบรับที่ดีเยี่ยมจากผู้บริโภคในประเทศไทย ส่งผลให้ ฟอร์ด ประเทศไทย เดินหน้าเก็บเกี่ยวยอดขายรถกระบะไปได้ทั้งสิ้น 15,667 คัน หลังผ่าน 7 เดือนแรกของปี ขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยราว 0.7% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่มียอดขาย 15,564 คัน ครองส่วนแบ่งทางการตลาด 9.2% รักษาตำแหน่งอันดับ 3 ในตลาดรถกระบะไว้ได้อย่างเหนียวแน่น
ขณะที่ค่ายมิตซูบิชิ ที่ขับเคี่ยวแย่งชิงอันดับท็อปทรีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขยับตัวด้วย ออลนิว ไทรทัน ซึ่งเปิดตัวในประเทศไทยเป็นที่แรกในโลก เป็นรถกระบะเจนเนอเรชันที่ 6 ของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ที่ได้รับการออกแบบใหม่ทั้งคันเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี ได้รับการพัฒนาทั้งในเรื่องของโครงรถและแชสซีใหม่ รวมถึงช่วงล่าง และเครื่องยนต์ใหม่ ภายใต้ 3 รุ่นทางเลือก ได้แก่ ซิงเกิ้ล แค็บ ขับเคลื่อน 4 ล้อ, ดับเบิ้ล แค็บ ขับเคลื่อน 2 ล้อ และดับเบิ้ล แค็บ ขับเคลื่อน 4 ล้อ
แม้จะเปิดตัวได้อย่างน่าสนใจในแบบฉบับของเวิลด์พรีเมียร์ ทว่าตัวเลือกที่มิตซูบิชิ ส่งลงทำตลาดในประเทศไทยไม่โดนใจผู้บริโภคเท่าที่ควรจะเป็น เมื่อดูจากไลน์อัพในวันเปิดตัวซึ่งมีหลากรุ่นที่เข้าตา และน่าจะเก็บเกี่ยวยอดจองให้กับต้นสังกัดได้ไม่น้อย อาทิเช่น รุ่นแอทลีท ที่ยกระดับรูปร่างหน้าตาและสมรรถนะการใช้งานขึ้นไปอีกขั้น นับเป็นสีสันที่ได้รับความสนใจในวันเปิดตัวไม่น้อย แต่น่าเสียดายที่ยังไม่พร้อมทำตลาด อย่างไรก็ดีเชื่อได้ว่าหลังจากนี้จะมีให้เลือกจับจองเป็นเจ้าของอย่างแน่นอน แต่ก็ไม่รู้จะสายไปหรือเปล่าสำหรับทางเลือกที่น่าจะต่อกรชิงยอดขายจากคู่แข่งที่ครองอันดับ 3 ในตลาดอยู่ ณ เวลานี้
สำหรับ มิตซูบิชิ ไทรทัน แอทลีท มาภายใต้รูปโฉมที่โดดเด่นทั้งภายนอกและภายใน ยกระดับด้วยอุปกรณ์และชุดแต่งที่แสดงความเป็นตัวตนที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เสริมภาพลักษณ์และสมรรถนะการใช้งานได้ดียิ่งขึ้น ทั้งในรูปแบบออนโรดรวมถึงออฟโรดด้วยเช่นกัน นับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้บริโภค รวมถึงเป็นตัวเลือกที่ยอดเยี่ยมสำหรับมิตซูบิชิ ในการทำตลาดในประเทศไทย
และน่าจะเข้ามาเติมความร้อนแรงให้กับตลาดรถกระบะในช่วงโค้งสุดท้ายของปี ซึ่งเจ้าตลาด 2 ค่ายหลักก็น่าจะมีการขยับตัวเสริมทัพด้วยรถรุ่นใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ในยุคที่รถกระบะยังคงเป็นทางเลือกอันดับต้นๆ ของผู้บริโภคในบ้านเรา ตอกย้ำบทบาทศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญของตลาดรถกระบะ สร้างการเติบโตให้กับภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์