“หนี้พุ่ง-ไฟแนนซ์เข้ม” กระทบยอดขายรถ ส.ค.
ค่ายรถโตโยต้าเปิดรายงานสถิติ ชี้ตลาดรถยนต์ยังคงฟื้นตัวช้า เดือนสิงหาคมทำยอดขาย 45,190 คัน ลดลง 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ตลาดรถยนต์นั่งมีปริมาณการขาย 18,305 คัน ลดลง 22.6% ในขณะที่รถยนต์เพื่อการพาณิชย์มีปริมาณการขาย 26,885 คัน ลดลง 26.5% และรถกระบะขนาด 1 ตัน ยอดขายทั้งหมด 14,970 คัน ลดลง 39.2%
นับตั้งแต่เจอปัญหาโควิด-19 ลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน ทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยยังคงอยู่ในสภาวะฟื้นตัวอย่างช้าๆ จากสภาพปัญหาทางเศรษฐกิจ สงครามการค้าระหว่างประเทศ รวมไปถึงปัจจัยอื่นที่ส่งผลกระทบต่อแวดวงยานยนต์ทั่วโลก
สำหรับในประเทศไทย นับตั้งแต่ต้นปี 2567 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยก็ต้องประสบพบเจอกับปัญหาต่างๆ มากมายเช่นกัน เช่น เศรษฐกิจที่ยังคงอยู่ในช่วงชะลอตัว ปัญหาการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน รวมไปถึงเทรนด์ของยานยนต์ที่มีแนวโน้มแปรเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ปัญหาหนี้ครัวเรือนของประชาชนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมา ล้วนเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลกระทบให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศหดตัวลงมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา
สำหรับยอดขายรถยนต์ในปัจจุบัน นับเข้าสู่เดือนที่ 8 (สิงหาคม) ตลาดรถยนต์ยังคงดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง ยอดขาย 45,190 คัน ลดลง 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา นายศุภกร รัตนวราหะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย กล่าว
กลุ่มตลาดรถยนต์นั่ง ทำยอดขาย 18,305 คัน ชะลอตัวที่ 22.6% ตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ มียอดขาย 26,885 คัน ชะลอตัวเช่นกันที่ 26.5% และตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน มียอดขาย 14,970 คัน เติบโตลดลง 39.2% ในส่วนของตลาด XEV มียอดขายทั้งหมด17,090 คัน คิดเป็นสัดส่วน 38% ของตลาดรถยนต์ทั้งหมด เติบโตขึ้น 20% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
ในขณะที่รถยนต์ HEV ยังคงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยเห็นได้จากยอดขายอยู่ที่ 8,658 คัน เติบโตขึ้น 33% คิดเป็นสัดส่วน 51% ของตลาด XEV และรถยนต์ BEV มียอดขาย 7,654 คัน เพิ่มขึ้น 16% คิดเป็นสัดส่วน 45% ของตลาด XEV ทั้งหมด
สำหรับตลาดรถยนต์เดือนกันยายน จะยังมีแนวโน้มทรงตัว แต่ยังคงอัตราการเติบโตที่ลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งอาจเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังคงฟื้นตัวช้า รวมถึงภาวะอุทกภัย อาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค
อีกประการสำคัญ คือ ในเรื่องของสถาบันการเงินที่มีการเข้มงวดในการให้สินเชื่อรถยนต์ เนื่องจากหนี้ครัวเรือนสูง โดยข้อมูลหนี้เสีย (NPL) รถยนต์ ณ ไตรมาสสองของปีนี้ สูงถึง 254,484 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.7% จากไตรมาสสองปีที่แล้ว และเศรษฐกิจในประเทศที่เติบโตในอัตราต่ำที 2.3% ในไตรมาสสองของปีนี้