เทรนด์ ‘EV’ ไทยครึกครื้น ‘ค่ายรถ’ ทุ่มงบตั้งไลน์ผลิต
เทรนด์ “ยานยนต์ไฟฟ้า” ในไทยสุดคึกคัก หลากหลายค่ายรถยนต์ทุ่มงบลงทุน ล่าสุดน้องใหม่ BYD จ่อขอบีโอไอลงทุนในไทย 3 หมื่นล้านบาท รวมถึงอีกหลายแบรนด์จากฝั่งยุโรป-อเมริกา อยู่ระหว่างตัดสินใจ ชี้นโยบายอีวี ไทยพร้อมสุดในอาเซียน ใช้เป็นหนึ่งในนโบายผลักดันการลงทุนในอีอีซีอีก 5 ปีข้างหน้า
จากวิกฤติโควิด-19 ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าโลกดูจะมีทีท่าเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2020 สวนทางกับตลาดยานยนต์ในทุกประเภทที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง สะท้อนจากยอดขายรถยนต์นั่งทั่วโลกที่ลดลงไปกว่า 15% สวนทางกับยอดขายยานยนต์ไฟฟ้ารวมทุกประเภทที่พุ่งสูงขึ้นถึง 43% ซึ่งเชื่อว่าเป็นผลจากการที่หลายประเทศทั่วโลกตื่นตัวกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ขณะที่ประเทศไทย รัฐบาลได้วางนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมเป็นเป้าหมายสำคัญ ด้วยการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ของภูมิภาคอาเซียนโดยตั้งเป้าที่จะมีการผลิตรถอีวีในประเทศไม่น้อยกว่า 30% ของการผลิตรถทั้งหมดในประเทศภายในปี 2030 หรือภายในปี พ.ศ. 2573 เพื่อสร้างโอกาสในการเติบโต และรักษาการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก
ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ออกนโยบายในการสนับสนุนตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว อาทิ มาตรการทั้งด้านภาษี รวมไปถึงการจับมือกับค่ายรถยนต์ทำมาตรการจูงใจ โดยสนับสนุนเงินอุดหนุนให้กับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี
รวมไปถึงการชักชวนให้ผู้ผลิตรถยนต์แบรนด์ใหญ่ๆ ของโลก เข้ามาลงทุนผลิตรถยนต์อีวีในประเทศไทย โดยที่ประกาศการลงทุนอย่างแน่นอนแล้วมีอยู่หลายค่าย เช่น เกรทวอลล์ มอเตอร์, เอ็มจี และอีกหลายค่ายที่อยู่ระหว่างขั้นตอนเจรจา ส่วนค่ายรถญี่ปุ่น อย่าง บริษัทโตโยต้านั้น ตัดสินใจเข้าโครงการส่งเสริมรถอีวีของไทยตั้งแต่มีการประกาศมาตรการ อีวี3
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยว่า บริษัทชั้นนำที่จะมีการลงทุนรถอีวีในไทยขณะนี้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยรายที่มีการขอส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทยจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เร็วๆ นี้ ได้แก่ บริษัท BYD Auto ที่จะมีการลงทุนประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เพื่อตั้งไลน์การผลิตในไทย ทั้งนี้ ได้มีการเจรจาเพิ่มเติมด้วยว่า ขอให้มีการลงทุนที่มากขึ้นในประเทศไทย
สำหรับค่ายรถยนต์ชั้นนำอื่นๆ ที่ได้มีการเจรจาเพื่อชักชวนให้มาลงทุนในประเทศไทย ได้แก่ บริษัท เทสล่า มอเตอร์ และบริษัท โฟลคสวาเก้น ประเทศเยอรมนี ที่อยู่ระหว่างตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเช่นกัน
นายคณิศ กล่าวต่อว่า ในการขับเคลื่อนอีอีซีให้มีการเติบโตต่อเนื่องไปข้างนโยบายการส่งเสริมการผลิตรถอีวี ถือว่าเป็นนโยบายสำคัญที่จะส่งเสริมให้เป้าหมายการลงทุนในอีอีซีปีละ 4-5 แสนล้านบาท เป็นไปตามเป้าหมายได้ โดยในเรื่องของอีวี รัฐบาลไทยถือว่านำหน้าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน
แสดงให้เห็นว่าประเทศไทย ตั้งใจจะเป็นศูนย์กลางการผลิตของอาเซียนต่อไป ทำให้บริษัทรถยนต์ที่ตั้งใจจะผลิตรถยนต์อีวี เข้ามาลงทุนในอีอีซี รวมทั้งธุรกิจแบตเตอรี่ ระบบไฟฟ้า และชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า
ก่อนหน้านี้ ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย หัวหน้าทีมปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อดึงดูดการลงทุน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดึงดูดลงทุนในอุตสาหกรรมรถอีวีในไทยว่า ได้มีการพูดคุยกับค่ายรถยนต์ทั้งจากจีน ญี่ปุ่น และยุโรป อย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของค่ายรถญี่ปุ่นที่กำลังตัดสินใจอยู่ ก็มีทั้งฮอนด้า และมิตซูบิชิ ส่วนค่ายรถยุโรปอย่างในเยอรมันก็ได้หารือกับสองค่ายใหญ่แล้ว อีกประมาณ 1 เดือนจะได้ความชัดเจนในเรื่องนี้ ส่วนมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติมก็จะมีเรื่องของสถานีชาร์จออกมาเพิ่มเติม ภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้
แผนงานทุกอย่างกำลังดำเนินการไปตามขั้นตอนและอยู่ในช่วงที่มีความคืบหน้าอย่างสำคัญ โดยในส่วนแรกเป็นแผนเรื่องการส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในประเทศไทย
โดยในแผนนี้ประเทศไทยมีความได้เปรียบที่ชัดเจนในเรื่องของดีมานด์ภายในประเทศ ซึ่งจำนวนความต้องการของรถอีวีในประเทศเป็นคำตอบที่สำคัญให้ค่ายรถยนต์ต่างๆ ไม่ย้ายฐานการผลิต และใช้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อป้อนตลาดในไทยและอาเซียน ขณะนี้ประเทศไทยมีรถอยู่ 30 ล้านคันที่เป็นรถน้ำมัน เราต้องใช้เวลาอีกพอสมควรในการเปลี่ยนจากรถน้ำมันเป็นรถอีวี
ส่วนประเทศคู่แข่งในอาเซียนอย่างอินโดนีเซียนั้น ยอดขายรถอีวีนั้นยังทำได้น้อยมาก ตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 300 คัน ขณะที่ประเทศไทยนั้นยอดจองของเราในปีนี้เป็นรถอีวีถึง 10% ของรถที่ขายได้ทั้งหมด ตรงนี้บอกชัดเจนว่า นโยบายเรื่องนี้เรามาถูกทาง ประกอบกับที่ตั้งของไทยนั้นอยู่กึ่งกลางของอาเซียน เหมาะที่จะลงทุนในไทยเพื่อให้เป็นฐานในการผลิตอีวีเพื่อส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ต่อไป