“โตโยต้า” ลั่นเป้ายอดขายปี 67 เติมโปรดักต์ใหม่ ดันอีโคคาร์
ตลาดรถยนต์ประเทศไทย ปี 2566 ทำตัวเลขได้แค่ 775,780 คัน ดิ่งลงจากปีก่อนเกือบ 10% ปิกอัพตกสุด แตะ 30% “ค่ายบิ๊กโตโยต้า” เตรียมปรับแผนนำโปรดักต์ใหม่เสริมทัพ ขอตั้งเป้าปี 2567 ขายเฉพาะแบรนด์โตโยต้าทะลุ 2.7 แสนคัน อีโคคาร์ยังฮอตต่อเนื่อง
รายงานยอดขายรถยนต์ในประเทศไทย โดยบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย แถลงสถิติการขายรถยนต์รวมของทุกยี่ห้อทำได้เพียง 775,780 คัน หดตัวลง 9% เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นปีที่ภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอยู่ในภาวะทรงตัว โดยตลาดภายในประเทศยังคงมีทิศทางที่ชะลอตัว ในขณะที่ภาคการส่งออกโดยรวมมีการขยายตัวที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ มีปัจจัยหลากหลายด้านที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางของตลาดในปีที่ผ่านมา ทั้งจากสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ กำลังซื้อที่ชะลอตัวลงจากหนี้ครัวเรือนสูง ตลอดจนการชะลอซื้อรถยนต์ของภาคธุรกิจ เพื่อรอความชัดเจนจากมาตรการภาครัฐ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินก็เพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
ส่วนปัจจัยบวกที่ส่งผลดีให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยก็ยังคงมีอยู่ เช่น สัดส่วนการขายของตลาดรถยนต์นั่งในประเทศที่ขยายตัวได้ดี โดยได้กระแสความนิยมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ได้อานิสงส์จากมาตรการสนับสนุนด้านราคาของภาครัฐ ตลอดจนตัวเลขการส่งออกรถยนต์ของไทยที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น จากสัดส่วนการผลิตเพื่อส่งออกในช่วงที่ผ่านมา เพื่อชดเชยการส่งมอบรถที่ล่าช้าจากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนสำคัญ จนทำให้การผลิตล่าช้าออกไปในปีก่อนหน้านี้
สำหรับยอดขายของโตโยต้าในปี 2566 ทำได้ 265,949 คัน ลดลง 8% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่ยังคงมีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 1 หรือเท่ากับ 34.3% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด
“ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ส่วนแบ่งทางการตลาดรถยนต์นั่งของโตโยต้ามีการเติบโตสูงขึ้นจากปีที่แล้วอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มรถอีโคคาร์ที่ยังคงสามารถครองส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 1 ได้อย่างต่อเนื่อง จากความสำเร็จด้านยอดขายของรถยนต์ Yaris ATIV รวมถึงการมีรถยนต์รุ่นใหม่อย่าง Yaris Cross ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้า นอกจากนี้ การดำเนินกิจกรรมทางการตลาดในรูปแบบต่างๆ ตลอดจนการมีผลิตภัณฑ์ยานยนต์ที่หลากหลายของโตโยต้า ก็มีส่วนทำให้สามารถเข้าถึงและใกล้ชิดกับลูกค้าในกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย”
นอกเหนือจากรถยนต์ภายใต้แบรนด์โตโยต้า ในปี 2566 ที่ผ่านมา แบรนด์เลกซัสในประเทศไทยก็ประสบความสำเร็จ มียอดขายสูงสุดอยู่ที่ 1,012 คัน นับเป็นครั้งแรกที่เลกซัสสามารถสร้างยอดขายได้สูงสุดถึงระดับกว่า 1,000 คัน แสดงถึงความไว้วางใจ และความมั่นใจของลูกค้าชาวไทยที่มีต่อแบรนด์เลกซัส
ส่วนแนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โตโยต้าคาดการณ์ว่า จะยังคงอยู่ในสภาวะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป พร้อมๆ กับการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจโดยรวมทั้งหมด โดยมีปัจจัยรอบด้านที่จะส่งผลกระทบต่อภาพรวม อาทิ การเติบโตของการบริโภคภาคเอกชนจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น นโยบายของภาครัฐที่จะสนับสนุนการใช้จ่ายให้เร่งตัวขึ้น การขยายตัวของการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมภายในประเทศ และโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการผลักดันมาตรการสนับสนุนการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าดูสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลในด้านการส่งออก ตลอดจนสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่ยังคงสูง และทิศทางของนโยบายอัตราดอกเบี้ยอีกด้วย
“เราคาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ในปี 2567 จะอยู่ที่ 800,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สำหรับโตโยต้าตั้งเป้ายอดขายอยู่ที่ 277,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 4% โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 34.6%”