“โตโยต้า” เร่งเสริมทัพไฮบริด ดันนโยบายลดปล่อยก๊าซ CO2
โดโยต้าวอนภาครัฐสนับสนุนยานยนต์พลังงานทางเลือกอื่น นอกเหนือรถยนต์ไฟฟ้า หรือบีอีวี แนะปรับเกณฑ์เงื่อนไขรถแท็กซี่ไทย พร้อมเดินหน้าผลักดันนโยบายลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากรถสาธารณะ ประกาศเปิดตัวรถไฮบริด 5 รุ่น ภายในปีนี้
มร.โนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้ว่า โตโยต้ามีแผนจะเปิดตัวรถไฮบริดจำนวน 4 รุ่น โดยไม่รวม โตโยต้า พริอุส ภายในปีนี้ พร้อมขอให้ภาครัฐพิจารณาปรับเงื่อนไขข้อกำหนดรถแท็กซี่ที่ให้บริการในปัจจุบันใหม่ เพื่อเอื้อต่อการนำรถแท็กซี่พลังงานทางเลือกปลอดคาร์บอนไดออกไซด์มาให้บริการ เป็นทางเลือกให้คนไทย
“ขณะนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับวงการรถยนต์ คือ คาร์บอนนิวทรัล ฉะนั้น การผลิตรถยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีไฟฟ้ามีความสำคัญมาก รถบีอีวีจึงเป็นทางออก แต่อยากให้รัฐบาลไทยออกนโยบายส่งเสริมรถไฟฟ้าประเภทอื่นๆ เพราะรถไฟฟ้าประเภทอื่นก็นำไปสู่การเป็นคาร์บอนนิวทรัลได้เหมือนกัน รถพลังงานทางเลือกอื่นที่ว่า อาทิ รถไฮบริด รถปลั๊กอินไฮบริด รถยนต์ไฟฟ้าที่มีเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel cell) จนกระทั่งรถสันดาปภายในที่ใช้ไฮโดรเจน โดยโตโยต้าพร้อมจะพัฒนารถที่มีเชื้อเพลิงหลากหลายเหล่านี้ เพื่อสนองความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าทั้งไทยและหลายๆ ประเทศให้ได้”
มร.โนริอากิ ยามาชิตะ ได้กล่าวถึงกฎระเบียบมาตรฐานรถแท็กซี่ไทยในปัจจุบันด้วยว่า กฎระเบียบที่กำหนดนั้น ค่อนข้างเข้มงวด เช่น รถที่จะนำมาใช้เป็นรถแท็กซี่จะต้องมีเครื่องยนต์มากกว่า 1.6 ลิตร อีกทั้งยังมีการกำหนดเรื่องมิติของตัว ซึ่งหากภาครัฐยังมีกฎเกณฑ์ตรงนี้ ก็จะยากที่จะนำรถยนต์ไฟฟ้ามาทำเป็นแท็กซี่ ฉะนั้น การที่โตโยต้านำรถแท็กซี่ ซึ่งเป็นคอนเซปต์คาร์มาโชว์ เพื่อต้องการสะท้อนไปยังภาครัฐว่า หากต้องการรถที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภาครัฐควรพิจารณาปรับกฎเกณฑ์มาตรฐานรถแท็กซี่ไทยใหม่ สำหรับเจแปนแท็กซี่ จะมีจุดเด่นหลักๆ คือ ห้องโดยสารกว้าง เป็นรถไฮบริดที่ใช้เชื้อเพลิงแอลพีจี
“การลดการปล่อย CO2 คาดว่าจะต้องใช้เวลาเป็น 100 ปี กว่าจะลดได้หมด ฉะนั้น เรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอนน่าจะเป็นไปได้มากกว่า โดยต้องพิจารณาว่าเทคโนโลยีอะไรที่ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้เร็วที่สุด จะช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และเชื่อว่า หากได้รัฐบาลใหม่ ก็น่าจะให้ความสำคัญเรื่องนโยบายรถไฟฟ้าเช่นกัน”
สำหรับการลงทุนประกอบรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตนั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาตัวเลขรถลักชัวรีไฟฟ้า ซึ่งรถลักชัวรีในที่นี้ หมายถึง เลกซัส, คัมรี และ bZ4X ในองค์รวมของโตโยต้า ว่ารถดังกล่าวได้รับความนิยมมากน้อยเพียงใด มีปริมาณมากเพียงพอจะนำเข้ามาประกอบในไทยหรือไม่ ส่วนรายละเอียด ขณะนี้ยังตอบไม่ได้